Cyber image in the media

ฐานเศรษฐกิจ " วิเคราะห์ " ฉบับวันที่ 22-24 เมษายน 2542

ฝันเป็นจริง " ไซเบอร์ อิมเมจ " ทำธุรกิจต้อง " ถนัด-สร้างตลาดใหม่ "

ในช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่งเชื่อว่า ทุกคนต้องมีฝัน หรือหวังว่า ในชีวิตการทำงานต้องการเดินไปสู่เป้าหมายในลักษณะใด บางคนอยากทำธุรกิจส่วนตัว บางคนอยากจะก้าวหน้าในชีวิตการทำงาน และสามารถขึ้นไประดับสูงสุดของบริษัท หรือบางคนฝันอยากจะเป็นศิลปิน ฯลฯ

ฝันหรือความหวังที่ว่านี้ ใช่ว่าทุกคนจะเดินไปถึงเหมือนกันทุกคน มีเพียง " บางคน " เท่านั้นได้สมหวังดังฝันที่หวังไว้ บางคนอาจต้องเปลี่ยนหรือแสวงหาแนวทางใหม่หลายต่อหลายครั้งจนกว่าจะฝ่าฟันไปถึง หรือบางคนอาจไปไม่ถึงเลยก็ได้

ซึ่ง " บางคน " ที่ประสบความสำเร็จ ก็ใช่ว่าจะมากับดวงเพียงอย่างเดียว ต้องฝึกฝน อดทน หาประสบการณ์ และเรียนรู้ตัวเองว่า มีความถนัดและเชี่ยวชาญในเรื่องใด เพราะนั่นหมายถึงทางเลือกที่ดี และปลอดภัยที่สุด !!

เช่นเดียวกับ " ปิตินนท์ พูนแสงสถิต " กรรมการผู้จัดการ บริษัทไซเบอร์ อิมเมจ จำกัด ที่เริ่มต้นมาจากความถนัดคือความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และรวมเพื่อนๆ ที่มีความถนัดในเรื่องเดียวกัน สร้างสรรค์งานบริการ " ออกแบบเว็บไซต์ " จนเป็นที่ยอมรับและขยายกิจการไปตั้งสาขาถึงสหรัฐอเมริกา เพื่อพิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นว่า

" ฝีมือของคนไทย คุณภาพ-เป็นที่ยอมรับไม่น้อยหน้าประเทศอื่นๆ เช่นกัน"

นายปิตินนท์กล่าวถึงที่มาของธุรกิจของเขาในงานสัมมนาเรื่อง " SMI ความหวังหรือเพียงแค่ฝัน " เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า ช่วงแรกที่เริ่มทำไม่รู้ว่า SMEs คืออะไร เราทำของเราเองคือ ออกแบบโฮมเพจ และทำการตลาดให้กับลูกค้า ในช่วงนั้นยังไม่มีระบบอินเตอร์เน็ตให้คนไทยใช้ แต่บูมมากในสหรัฐและทั่วโลกให้ความสนใจ

ซึ่งผมเห็นว่า ระบบ อี - คอมเมอร์ซ ที่จะให้บริการในเมืองไทย ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่และคนคิดว่า เป็นอะไรที่ทำได้ง่ายๆ ใครก็คิดว่าทำได้แต่จริงๆ แล้วมีคนเรียนดีไซน์มากพอสมควร มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ มาทำเว็บไซต์ แต่เขาก็ไม่มี background ด้านดีไซน์ หรือแผนการตลาด ที่สำคัญคือ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตต่างๆ ให้บริการด้านออกแบบเว็บไซต์เช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นธุรกิจหลักของเขาเพราะธุรกิจหลักคือ การให้บริการด้านอินเตอร์เน็ต

" แต่วิชันของเราคือ ทำโฆษณาบนอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความรู้ทักษะมาก เช่น เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ การตลาด และดีไซน์ ซึ่งตรงนี้คือ คอนเซ็ปต์ ของบริษัท "


เมื่อผมคิดได้ว่าคอนเซ็ปต์ ของบริษัทเดินไปทางไหน จึงได้ร่วมกับเพื่อนๆ ที่มีความรู้ - ประสบการณ์ด้านนี้ ซึ่งในช่วงแรกๆ โชคดีอย่างหนึ่งคือ ธุรกิจของเราอาศัยทักษะความรู้ของตน ไม่ต้องลงทุนมากมายด้านอุปกรณ์หรือโรงงาน มีทุนจดทะเบียนค่อนข้างต่ำ เพราะเราลงทุนเวลาของเราเอง ซึ่งตอนนั้นแต่ละคนก็มีงานประจำอยู่แล้ว แล้วมาทำงานที่บริษัท ไซเบอร์ ฯ ในเวลากลางคืน ต้องอดทนหน่อย วันหนึ่งทำงาน 16 ชั่วโมงต่อวัน

นายปิตินนท์ เล่าต่อว่า แรกๆ พยายามคุมค่าใช้จ่ายให้ต่ำที่สุด และไม่ต้องมีออฟฟิศ ซึ่งทำกันที่บ้าน และยังไม่มีการจ้างพนักงานคือ ทำเองทุกอย่าง ต้องส่งเอกสาร ก็ช่วยๆ ทำกัน ในตอนแรก ไม่มีตำแหน่ง โดยหวังว่าเมื่อมีรายได้จากลูกค้าเข้ามาก่อน ถึงจะมาเปิดออฟฟิศจ้างพนักงานประจำ

ทุกวันนี้ คอนเซ็ปต์ เราก็ค่อยๆ ทำ และค่อยๆ ขยายตามความต้องการของลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ หากตั้งบริษัทขึ้นมาตั้งแต่แรกและมีขนาดพอสมควรไว้ 2 ปีล่วงหน้า ก็คงจะไม่มีวันนี้ คือค่อยๆ ขยายตามหลักการของ SMEs หมายความว่า สามารถยืดหยุ่นได้รวดเร็ว

หลักการในการทำงานคือใครมีความเห็นเช่นใด พร้อมรับฟัง และมีโอกาสที่จะเติบโตในบริษัทได้ ช่วงที่เงินบาทลอยตัว บริการอื่นๆ เริ่มเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ แต่เราก็ยึดหลักการเหมือนเดิมคือ เน้นงานคุณภาพ และบริการลูกค้าที่ดี ขณะที่คนอื่นๆ เริ่มแข่งขัน ตัดราคากัน และทำงานเหมือน mass production มากกว่าคือ รับมามากๆ ราคาถูกๆ แต่เราคิดว่าทำอย่างนั้นจะฆ่ากันเอง คือ คิดราคาถูกนี่ ใครๆ ก็อยู่ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงยึดถือหลักการเดิม เพราะเชื่อว่า ต้องมีตลาดที่ต้องการชิ้นงานคุณภาพ

" ทุกวันนี้ บริษัทไปได้ดีพอสมควรเพราะหลักการนี้ "

นั่นคือคำพูดที่กลั่นออกจากประสบการณ์และความภาคภูมิใจ ของหัวเรือใหญ่ " ไซเบอร์ อิมเมจ "

ในด้านของมาร์เก็ตติ้ง คอนเซ็ปต์และมาร์เก็ตติ้งแพลนของบริษัท นายปิตินนท์กล่าวว่า เน้น " จุดแข็ง " ของบริษัทคือ ทุกคนรู้ว่าอินเตอร์เน็ตทำธุรกิจได้หลายอย่างมาก หาเงินได้หลายวิธีมาก หลายคนถามผมว่า ทำไมไม่ทำอย่างนี้หรืออย่างนั้น เราเห็นว่า ไม่มีใครทำได้ทุกอย่างหรือเก่งไปทุกอย่าง โดยธุรกิจอยู่ได้

" เราจึงเน้นสิ่งที่เราถนัด และมีประสบการณ์คือ การออกแบบเว็ปไซต์ การโฆษณาการตลาดบนอินเตอร์เน็ต ถ้าลูกค้าต้องการนอกเหนือไปจากนี้ เช่น สมมุติว่า เขาต้องการให้เราวางระบบเน็ตเวิร์ค หรืออื่นๆ นอกเหนือความสามารถของเรา บริษัทจะหาบริษัทอื่นให้ "

นายปิตินนท์กล่าวว่า ในอนาคตการทำธุรกิจ บนอินเตอร์เน็ต จะเป็นวิธีหนึ่งที่ผลักดันให้ SMEs แข่งขันกับองค์กรใหญ่ๆ ได้ เช่น ที่อเมริกามีร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุด และมีร้านหนังสือทั่วประเทศร้อยกว่าร้าน เพียงไม่ถึง 2 ปี ที่ผ่านมา " amazon.com " ซึ่งเป็นร้านหนังสือที่ขายบนอินเตอร์เน็ตอย่างเดียว สามารถเข้ามาแข่งขันกับบริษัทรายใหญ่ได้คือ ถ้าไม่มีระบบ อี - คอมเมอร์ซ ไม่มีอินเตอร์เน็ต กว่าจะขึ้นถึงระดับนั้นใช้เวลานานมาก

คิดว่าเรื่องนี้เป็นจุดสำคัญมาก การพัฒนาธุรกิจ SMEs ผมขอฝากว่า กรณีที่รัฐบาลทำ อี - คอมเมอร์ซในไทยมีอุปสรรคอยู่มากและต้องแก้ไข !!

เพราะข้อดีของระบบนี้จะส่งผลให้ซื้อสินค้าได้สะดวก และมีราคาถูกขึ้น คนถึงซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต แต่เมืองไทยวันนี้ยังไม่ค่อยสะดวกเท่าใดนักเพราะถ้าใช้บัตรเครดิตผ่านอินเตอร์เน็ต มันไม่มีลายเซ็น ต้องแฟกซ์ลายเซ็นไปอีจุดหนึ่งคือ ค่าใช้จ่าย ถ้าขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตจะถูกกว่า เพราะไม่มีหน้าร้านแต่ว่าเมืองไทย ธนาคารจะคิดค่าสมัครทำอี - คอมเมอร์ซในช่วงแรกๆ ถึง 10%

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาข้างต้นนีคือมาร์เก็ตติ้งคอนเซ็ปต์ของเรา ซึ่งนายปิตินนท์กล่าวอีกว่า ในแง่ของมาร์เก็ตติ้งแพลนในไทย ช่วงที่ผ่านมาจะเน้นขายองค์กรขนาดใหญ่ - กลางเพราะคิดว่า บริษัทขนาดใหญ่จะมีงบทำโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต ตอนนี้เราก็หันมาให้ความสำคัญกับ SMEs ด้วยเพราะเชื่อว่า เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบริษัท SMEs ให้เชื่อมต่อกับตลาดโลกได้

ช่วงปีที่แล้วบริษัทได้ขยายตลาด เข้าไปเปิดสาขาที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนตัดสินใจนั้น นายปิตินนท์อธิบายว่า มีบริษัทลูกค้าถามผมอยู่เสมอๆ ว่า ทำไมไม่ขายที่อเมริกาเพราะเขาเห็นงานของเรามีคุณภาพ ไม่แพ้บริษัทของอเมริกา ตรงนี้ทำให้ผมเริ่มคิด แต่ว่าวิธีที่เราทำงานไม่สามารถขายบริการให้กับบริษัทฝรั่งได้เพราะต้องทำงานใกล้ชิด และมีการพูดคุยเกือบทุกวัน จึงตัดสินใจตั้งทีมงานขึ้นมา - เปิดสาขา ทำแผนการตลาด การขายและบริการลูกค้า แต่โปรดักส์ชั่นนั้นนำกลับมาทำที่เมืองไทย

แล้วที่สำคัญคือ บริษัทแข่งขันในตลาดได้ เพราะสินค้าอยู่ในระดับมาตราฐาน ขณะนี้งานของบริษัทเข้ามามาก และได้รับความสนใจมากพอสมควร แล้วที่แปลกคือ ที่นั่นพอใจแล้วเขาจะพูดตรงๆ ชอบหรือไม่ชอบ ไม่ต้องเสียเวลากันมาก

" ส่วนกรณีรัฐบาลไทยสนใจธุรกิจ SMEs มากขึ้นถือว่า เป็นเรื่องที่ดี และผมขอฝากว่าถ้าคุณไม่เคยมีฝัน จะมีฝันที่เป็นจริงได้อย่างไร หรือคนที่ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็จะไม่มีคู่แข่งในการตลาด " นายปิตินนท์กล่าวให้ข้อคิดไว้

ต่อข้อถามที่ว่าการบริการจัดทำโฮมเพจพบว่า ลูกค้าไทยไม่ค่อยสนใจ แต่จะสนใจไปดูโฮมเพจเมืองนอก และยังมีคู่แข่งจากเมืองนอกมาเสนอขายให้กับคนไทย และการทำไดเร็กต์เซลส์ของ อี - คอมเมอร์ซในไทยอาจไม่ค่อย work เท่าใดนักเพราะมีไดเร็กต์เมล์ถูกโยนทิ้งทุกวัน รู้สึกเสียดายค่าพิมพ์ และกระดาษ เพราะผู้ขายไม่ค่อยเอาสินค้าที่ดีมาขายหรือไม่ค่อยรับผิดชอบหลังจากขายไปแล้ว อันนี้เจอกันบ่อย

นายปิตินนท์ตอบว่า ระบบอี-คอมเมอร์ซบูมมากที่อเมริกา เพราะโครงสร้างพื้นฐานดีอยู่แล้ว และสินค้าทุกอย่างรับประกัน การส่งสินค้าสะดวกมากคือ ถ้าไม่พอใจใน 30 วันคืนได้และทุกคนเชื่อถือ structure ของการขายสินค้าบริการผ่านเมล์หรืออินเตอร์เน็ต แต่กรณีประเทศไทย การส่งสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต ระบบของการชำระเงิน ยังไม่มีมาตราฐาน อันนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก ซึ่งรัฐบาลคงต้องแก้ไขต่อไป

อย่างไรก็ตาม " ไซเบอร์ อิมเมจ " ประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง และคงต้องเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องครุ่นคิดตามไปคือ หากคนเราไม่มีฝัน จะมีฝันที่เป็นจริงไม่ได้ !! เพราะบริษัทนี้เริ่มต้นมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีส่วนตัว หาลูกค้าและค่อยๆ ขยายกิจการ มาตั้งบริษัทด้วยทุน 1 ล้านบาท จนปัจจุบันมีพนักงาน 15 คน มีลูกค้ารายใหญ่ เช่น ปูนซิเมนต์ไทย ไทยออยล์ รวมไปถึงลูกค้าในอเมริกา

ความสำเร็จของ " ปิตินนท์ " ก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ แต่ใช่ว่า คนอื่นๆ จะทำตามได้ง่ายๆ ที่สำคัญคือ ต้องประสบความสำเร็จด้วย ซึ่งรากฐานของสิ่งนี้คือ ทำสิ่งที่ตัวเองถนัด เชี่ยวชาญ สร้างสรรค์งานคุณภาพ และมีระบบบริการลูกค้าที่ดี !!


Back

| Homepage |
| web site Benefits | Company Profile | Vision |
| Design and Development | Immersive Imaging |
| Services | Portfolio |
| Career Opportunities | Contact Us |